พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือ พญาร่วงหรือ พระบาทกมรเตงอัญศรีรามราช เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณ พ.ศ. 1822 ถึงประมาณ พ.ศ.1841
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้รับการยกย่องเป็น "มหาราช" ด้วยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี
พระประสูติกาล
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง พระเชษฐาองค์แรกสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง ยังทรงพระเยาว์ พระเชษฐาองค์ที่สองทรงพระนามตามศิลาจารึกว่า "พระยาบานเมือง" ซึ่งได้เสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดา และเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็เสวยราชย์แทนต่อมา
ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย พญามังรายมหาราชแห่งล้านนา และพญางำเมืองแห่งพะเยาเป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกัน ณ สำนักพระสุกทันตฤๅษี ที่เมืองละโว้ จึงน่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยพญามังรายประสูติเมื่อ พ.ศ. 1782 พ่อขุนรามฯ น่าจะประสูติในปีใกล้เคียงกันนี้
พระนาม
ราชบัณฑิตยสถานสันนิษฐานว่า พระนามเดิมของพระองค์คือ "ราม" เพราะปรากฏพระนามเมื่อเสวยราชย์แล้วว่า "พ่อขุนรามราช" อนึ่ง สมัยนั้นนิยมนำชื่อปู่มาตั้งเป็นชื่อหลาน ซึ่งตามพระราชนัดดาของพระองค์มีพระนามว่า "พระยาพระราม" และในชั้นพระราชนัดดาของพระราชนัดดา ในเหตุการณ์การแย่งชิงราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1962 ตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ปรากฏเจ้าเมืองพระนามว่า "พระยาบาลเมือง" และ "พระยาราม"
การเสวยราชย์
นายตรี อมาตยกุล ได้เสนอว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชน่าจะเสวยราชย์ พ.ศ. 1820 เพราะเป็นปีที่ทรงปลูกต้นตาลที่สุโขทัย
ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิตจึงได้หาหลักฐานมาประกอบพบว่า กษัตริย์ไทยอาหมถือประเพณีทรงปลูกต้นไทรตอนขึ้นเสวยราชย์อย่างน้อยเจ็ดรัชกาลด้วยกัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างโชคชัยว่ารัชกาลจะอยู่ยืนยงเหมือนต้นไทร อนึ่ง ต้นตาลและต้นไทรเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของลังกาจนทำหาย
พระราชกรณียกิจ
รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นยุคที่กรุงสุโขทัยเฟื่องฟูและเจริญขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ระบบการปกครองภายในก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนอยู่ดีกินดี สภาพบ้านเมืองก้าวหน้าทั้งทางเกษตร การชลประทาน การอุตสาหกรรม และการศาสนา อาณาเขตของ
กรุงสุโขทัยได้ขยายออกไปกว้างใหญ่ไพศาล
การเมืองและการปกครอง
เมื่อพ่ออินทราทิตย์ทรงขจัดอิทธิพลของเขมรออกไปจากกรุงสุโขทัยได้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 การปกครองของกษัตริย์สุโขทัยได้ใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ "พ่อปกครองลูก" ดังข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า คำพูด"....เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวาน อันใดกินอร่อยดี กูเอามาแก่พ่อกู กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่อบ้านท่อเมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู.."
ข้อความดังกล่าวแสดงการนับถือบิดามารดา และถือว่าความผูกพันในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ ครอบครัวทั้งหลายรวมกันเข้าเป็นเมืองหรือรัฐ มีเจ้าเมืองหรือพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าครอบครัว
ปรากฏข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้พระราชอำนาจในการยุติธรรมและนิติบัญญัติไว้ดังต่อไปนี้ 1) ราษฎรสามารถค้าขายได้โดยเสรี เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บจังกอบหรือภาษีผ่านทาง 2) ผู้ใดล้มตายลง ทรัพย์มรดกก็ตกแก่บุตร และ 3) หากผู้ใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณีพิพาท ก็มีสิทธิไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าประตูวังเพื่อถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้ พระองค์ก็จะทรงตัดสินด้วยพระองค์เอง
นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชยังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องช่วยในการปกครอง โดยได้ทรงสร้าง "พระแท่นมนังคศิลาบาตร"ขึ้นไว้กลางดงตาล เพื่อให้พระเถรานุเถระแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันพระ ส่วนวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จประทับเป็นประธานให้เจ้านายและข้าราชการปรึกษาราชการร่วม
เศรษฐกิจการค้า
โปรดให้สร้างทำนบกักน้ำที่เรียกว่า “สรีดภงส์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในตัวเมืองสุโขทัยและบริเวณใกล้เคียง โดยอาศัยแนวคันดินที่เรียกว่า “เขื่อนพระร่วง” ทำให้มีน้ำสำหรับใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในยาม ที่บ้านเมืองขาดแคลนน้ำ
ทรงส่งเสริมการค้าขายอย่างเสรีภายในราชอาณาจักรด้วยการไม่เก็บภาษีผ่านด่านหรือ “จกอบ” (จังกอบ) จากบรรดาพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในกรุงสุโขทัย ดังคำจารึกบนศิลาจารึกว่า "เจ้าเมือง บ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง" นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่ปรากฏว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งเสริมให้ชาวสุโขทัยนิยมการค้าขายนั้น ปรากฏตามศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า "เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจะใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า" อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ทรงเปิดเสรีทุกประการในการค้าขายทำให้การค้าขายขยายออกไปอย่างกว้างขวางจนปรากฏแหล่งการค้าสำคัญในสุโขทัยได้แก่ "ตลาดปสาน" จากศิลาจารึกกล่าวว่า "เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัย มีตลาดปสาน"
ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจอย่าง "จีน" โดยนอกจากการเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีตามปกติแล้ว ยังโปรดให้นำช่างจากชาวจีนมาเพื่อก่อตั้งโรงงานตั้งเตาทำถ้วยชามทั้งเพื่อใช้ในประเทศ และสามารถส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงได้ด้วย ถ้วยชามที่ผลิตในยุคนี้เรียกว่า "ชามสังคโลก"
ศาสนาและวัฒนธรรม
ศาสนาและวัฒนธรรม
ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แทนตัวอักษรขอมที่เคยใช้กันมาแต่เดิม เมื่อ พ.ศ. 1826 เรียกว่า “ลายสือไทย” และได้มีการพัฒนาการมาเป็นลำดับจนถึงอักษรไทยในยุคปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีอักษรไทยใช้มาจนถึงทุกวันนี้
โปรดให้จารึกเรื่องราวบางส่วนที่เกิดในสมัยของพระองค์ โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ทำให้คนไทยยุคหลังได้ทราบ และนักประวัติศาสตร์ได้ใช้ศิลาจารึกดังกล่าวเป็นข้อมูลหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์สุโขทัย
ทรงรับเอาพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ จากลังกา ผ่านเมืองนครศรีธรรมราช มาประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย ทำให้พระพุทธศาสนาวางรากฐานมั่นคงในอาณาจักรสุโขทัย และเผยแผ่ไปยังหัวเมืองต่างๆในราชอาณาจักรสุโขทัย จนกระทั่งได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อพระพุทธศาสนาได้มาตั้งมั่นที่นครศรีธรรมราช พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงให้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากเมืองนครศรีธรรมราชไปตั้งเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่กรุงสุโขทัยด้วย และนับเป็นการเริ่มการเจริญสัมพันธไมตรีกับลังกา อีกทั้งทรงได้สดับกิตติศัพท์ของ "พระพุทธสิหิงค์" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เจ้าราชวงศ์ลังกาสร้างขึ้นด้วยพระพุทธลักษณะที่งดงาม และมีความศักดิ์สิทธิ์ จึงทรงให้พระยานครศรีธรรมราช เจ้าประเทศราชแต่งสาส์นให้ทูตถือไปยังลังกา เพื่อขอเป็นไมตรีและขอพระราชทานพระพุทธสิหิงค์มาเพื่อเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองไทยสืบไป
อาณาเขต
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางไพศาล คือ
ทิศตะวันออก ทรงปราบได้เมืองสรหลวงสองแคว (พิษณุโลก), ลุมบาจาย, สะค้า (สองเมืองหลังนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแควป่าสักก็ได้), ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์และเวียงคำในประเทศลาว
ทิศใต้ ทรงปราบได้คนที (บ้านโคน จังหวัดกำแพงเพชร), พระบาง (นครสวรรค์), แพรก (ชัยนาท), สุพรรณภูมิ, ราชบุรี, เพชรบุรี, และนครศรีธรรมราช โดยมีฝั่งทะเลสมุทร (มหาสมุทร) เป็นเขตแดนไทย
ทิศตะวันตก ทรงปราบได้เมืองฉอด,มีสมุทรเป็นเขตแดนไทย
ทิศเหนือ ทรงปราบได้เมืองแพร่, เมืองน่าน, เมืองพลัว (อำเภอปัว น่าน), ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง) เป็นเขตแดนไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การใช้ความสัมพันธ์ทางด้านการทูตและความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะทางด้านพระพุทธศาสนาแทนการทำสงคราม ทำให้สุโขทัยมีแต่ความสงบร่มเย็น ไม่เกิดสงครามกับแคว้นต่างๆ ในสมัยของพระองค์ และได้หัวเมืองประเทศราชเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทรงทำพระราชไมตรีกับพญามังรายมหาราชแห่งล้านนา และพญางำเมืองแห่งพะเยา โดยทรงยินยอมให้พญามังรายมหาราชขยายอาณาเขตล้านนาทางแม่น้ำกก แม่น้ำปิง และแม่น้ำวังได้อย่างสะดวก เพื่อให้เป็นกันชนระหว่างจีนกับสุโขทัย กับทั้งยังได้เสด็จไปทรงช่วยเหลือพญามังรายมหาราชหาชัยภูมิสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 ด้วย
ทางอาณาจักรมอญ มีพ่อค้าชื่อ "มะกะโท" เข้ารับราชการอยู่ในราชสำนักของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มะกะโทได้ผูกสมัครรักใคร่กับ "เจ้าเทพธิดาสร้อยดาว" พระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แล้วพากันหนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ แล้วจึงขออภัยโทษต่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ขอพระราชทานนาม และขอยินยอมเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงได้พระราชทานนามว่า "พระเจ้าฟ้ารั่ว"[ต้องการอ้างอิง]
ทางทิศใต้ ได้ทรงอาราธนาพระมหาเถรสังฆราชผู้เรียนจบพระไตรปิฎกมาจากนครศรีธรรมราช ให้มาเผยแพ่พุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย
ส่วนด้านเมืองละโว้นั้นทรงปล่อยให้เป็นเอกราชอยู่ เพราะปรากฏว่ายังส่งเครื่องบรรณาการไปจีนอยู่ระหว่าง พ.ศ. 1834 ถึงพ.ศ. 1840 ทั้งนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็คงจะได้ทรงผูกไมตรีกับเมืองละโว้ไว้ นอกจากนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเองก็ทรงส่งราชทูตไปจีนสามครั้งเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี
ประดิษฐกรรม
พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 1826 ตัวหนังสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีลักษณะพิเศษกว่าตัวหนังสือของชาติอื่นซึ่งขอยืมตัวหนังสือของอินเดียมาใช้ กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เพิ่มขึ้นให้สามารถเขียนแทนเสียงพูดของคำในภาษาไทยได้ทุกคำ กับทั้งได้นำสระและพยัญชนะมาอยู่ในบรรทัดเดียวกันโดยไม่ต้องใช้พยัญชนะซ้อนกัน ทำให้เขียนและอ่านหนังสือไทยได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
วรรณกรรม
วรรณกรรมสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสูญหายไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (พ.ศ. 1835) ซึ่งแม้จะมีข้อความเป็นร้อยแก้ว แต่ก็มีสัมผัสคล้องจองทำให้ไพเราะซาบซึ้งตรึงใจ เช่น คำพูด|...ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว...ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย...เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด
นับเป็นวรรณคดีเริ่มแรกของกรุงสุโขทัยซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบัน โดยอย่างไรก็ดี ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา มีข้อสงสัยทางวิชาการว่าศิลาจารึกดังกล่าวจะมิได้ทำขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และมีผู้เสนอว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพบศิลานั้นเมื่อเสด็จจาริกธุดงค์ เป็นผู้ทรงทำศิลานั้นขึ้นเพื่อเหตุผลทางการเมืองในการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ชาติตะวันตกเห็นว่ามีและรุ่งเรืองมาอย่างยาวนาน เป็นการป้องปัดภัยการล่าอาณานิคมในสมัยนั้น ทั้งนี้ข้อสงสัยนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น